logo

ภาควิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics & AI)

ภาค Robotics & AI เป็นการเอาวิศวกรรมหลาย ๆ สายมาผสมกัน ได้แก่ เครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และ เมคคาทรอนิกส์ เป็นต้น

เนื้อหา บรรยากาศในการเรียนเป็นอย่างไร

หลักสูตรของภาค Robotics & AI จะแบ่งเป็น 2 สายหลัก ๆ คือ สายหุ่นยนต์ (Robotics) และ สายปัญญาประดิษฐ์ (AI) เนื้อหาในหลักสูตรจะเน้นด้านหุ่นยนต์เป็นหลัก ใน 2 ปีแรกจะเรียนผสม ๆ กัน แต่จะมีวิชาเลือกในปีที่ 3 และ 4 ที่แบ่งแยกชัดเจนว่าเป็นวิชาสาย Robotics หรือ AI

สาย Robotics จะเรียนเกี่ยวกับ Hardware เป็นหลัก มีวิชาจำพวก ต่อวงจรไฟฟ้า เซนเซอร์และระบบหุ่นยนต์

สาย AI จะเรียนเกี่ยวกับ Software เป็นหลัก มีวิชาจำพวก เขียนโปรแกรม VR/AR IoT

การเรียนจะเป็นการเรียนแบบ project-based คือนำสิ่งที่เรียนในคาบมาประยุกต์ใช้ และ ทดสอบความรู้ตัวเอง ทำให้รับรู้ว่าต้องเรืยนรู้อะไรเพิ่มเติม ตั้งแต่ปี 2 เป็นต้นไป จะมีวิชา project ทุก ๆ เทอม จนจบปี 4

บรรยากาศในการเรียน

บรรยากาศในการเรียนคล้าย ๆ กับการเรียนในมัธยม แต่ละปีมีเพียง 30 - 40 คน คนที่เรียนเก่งคอยสอนคนที่อ่อนกว่า ทุกวิชาเรียนด้วยกันทุกคน ไม่เหมือนกับภาคอื่นที่จะมีบางวิชาที่แบ่งเรียนหลาย ๆ Sec รุ่นพี่มีเนื้อหาจากปีก่อน ๆ ให้น้อง ๆ อ่านกันล่วงหน้าได้ อาจารย์ส่วนมากใจดี ไม่ถือตัว คุยเล่นได้ คอยช่วยเหลือ เอาใจใส่นิสิต

แนวโน้มในอนาคตเป็นอย่างไร

เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ในระดับโลก มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบผลิตอัตโนมัติมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและเพื่อการอยู่รอดทางธุรกิจ ในอนาคตจึงมีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะต้องการบุคคลที่มีความรู้ด้านหุ่นยนต์ (Robotics) และการวางระบบหุ่นยนต์ (AI) ในโรงงานมากขึ้น

เรียนจบไปแล้วทำอะไรได้

วิศวกรหุ่นยนต์สามารถทำงานในฐานะวิศวกรในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ระบบหุ่นยนต์และระบบผลิตสมัยใหม่ โดยมีระบบปัญญาประดิษฐ์ เป็นตัวเสริมให้ระบบการทำงานมีความฉลาดในการทำงานมากขึ้น

สำหรับสายตรง Robotics สามารถทำงานในอุตสาหกรรมที่มีเครือข่ายวิสาหกิจขนาดใหญ่ (Cluster) เช่น อุตสาหกรรมประกอบยานยนต์และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับสายตรง AI สามารถทำงานเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics), Machine Learning, Big Data สาขาอาชีพที่ทำงานได้ เช่น ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E - Business), ธนาคาร, และ การให้คำปรึกษา (Consulting) เป็นต้น

ถ้าต้องการเรียนต่อ เนื่องจาก AI และ Machine Learning มีการใช้งานในหลายสาขาอาชีพ อ้างอิงจากบัณฑิตที่เรียนจบไปแล้ว สามารถเรียนต่อด้านบริหาร เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข หรือการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น

ภาควิชานี้เหมาะกับคนประเภทไหน

เหมาะกับคนที่สนใจในการทำงานของหุ่นยนต์ การเขียนโค้ดให้เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง การเชื่อมโยงสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (Cross Curricular Thinking) ชอบการประดิษฐ์สิ่งของ เป็นคนที่มีแรงจูงใจในตนเอง อยากสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น วิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ยอมแพ้ สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง