logo

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ประกอบด้วย 4 สาขาย่อย คือ

1. สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering)

  • แนวคิดการออกแบบทางวิศวกรรม ความรู้พื้นฐานของงานก่อสร้าง
  • กลศาสตร์วิศวกรรม เช่น ระบบแรง สมดุล แรงเสียดทาน เป็นต้น
  • กลศาสตร์วัสดุ โดยศึกษาแนวคิดพื้นฐานของความเค้นและความเครียด แรงบิด แรงเฉือน และโมเมนต์ดัด เกณฑ์การวิบัติ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้าง สมบัติ กระบวนการผลิต และการประยุกต์ใช้วัสดุหลักทางวิศวกรรมโยธา เช่น เหล็กรูปพรรณ เหล็กเส้น ไม้ ซีเมนต์ คอนกรีต
  • การออกแบบชิ้นส่วนโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • การออกแบบโครงสร้างไม้และโครงสร้างเหล็ก

2. สาขาวิศวกรรมธรณีเทคนิค (Geotechnical Engineering)

  • การบดอัดดิน การไหลของน้ำในดิน การยุบอัดตัวของดิน ทฤษฎีแรงดันดิน เสถียรภาพของลาดดิน กำลังรับน้ำหนักของดิน
  • การออกแบบทางวิศวกรรมธรณีเทคนิค การออกแบบและการก่อสร้างฐานรากตื้น ฐานรากเสาเข็ม การออกแบบและการก่อสร้างโครงสร้างในดิน

3. สาขาวิศวกรรมการบริหารจัดการงานก่อสร้าง (Construction Engineering and Management)

  • การควบคุมงานก่อสร้าง วิธีการก่อสร้าง มาตรฐานงานก่อสร้าง องค์ประกอบ วิธีการ และขั้นตอนของการควบคุมงานก่อสร้าง การจัดทำบัญชีการตรวจสอบงานก่อสร้าง
  • การบริหารงานก่อสร้าง การจัดการองค์กร การวางผังสถานที่ก่อสร้าง การวางแผนโครงการ กฎหมายงานก่อสร้าง ความปลอดภัยในงานก่อสร้าง
  • หลักการประมาณต้นทุนก่อสร้าง การประมาณแบบหยาบและละเอียด การคิดต้นทุนแรงงานและเครื่องจักร

4. สาขาวิศวกรรมการขนส่ง (Transportation Engineering)

  • หลักการและแนวคิดของการขนส่ง อุปสงค์และอุปทานของการขนส่ง การปฏิบัติการจราจร และการวิเคราะห์ระบบการขนส่งเบื้องต้น
  • การพัฒนาด้านถนนและทางหลวง องค์กรบริหารจัดการระบบถนน หลักการวางแผนงานทางและระบบการวิเคราะห์การจราจร

สำหรับความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนในภาควิชาวิศวกรรมโยธา จะมี 2 ส่วน คือ

  1. ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์

เช่น แคลคูลัส ทฤษฎีความน่าจะเป็นและสถิติ พีชคณิตเชิงเส้น เป็นต้น และความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ด้านกลศาสตร์และการประยุกต์ เช่น ระบบแรง แรงลัพธ์ สมดุล แรงเสียดทาน กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน งานและพลังงาน และโมเมนตัม เป็นต้น

  1. ความรู้ประยุกต์ทางวิศวกรรม

เช่น การเขียนแบบวิศวกรรม การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยความรู้พื้นฐานที่จำเป็นส่วนใหญ่เป็นรายวิชาที่เรียนในชั้นปีที่ 1 สามารถประเมินตนเองได้จากผลการเรียนในชั้นปีที่ 1 ว่ามีความถนัดเหมาะสมกับเนื้อหาในภาควิชาวิศวกรรมโยธาหรือไม่ นอกจากนี้ การเรียนในภาควิชาวิศวกรรมโยธายังได้เรียนเนื้อหาด้าน Soft-side ด้วย เช่น หลักการบริหารจัดการโครงการก่อสร้าง พื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน กฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ ความปลอดภัย การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งสอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมบทบาทและความรับผิดชอบของวิศวกรรมโยธาต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

บรรยากาศการเรียนการสอนในภาควิชาวิศวกรรมโยธา

ภาควิชาวิศวกรรมโยธามีคณาจารย์เกือบ 40 คนแต่ละคนก็มีสไตล์การสอนที่แตกต่างกัน ตัดเกรดโหดบ้าง ใจดีบ้าง บางคนก็เป็นกันเองกับลูกศิษย์มาก บางคนก็ค่อนข้างเข้มงวดกับลูกศิษย์ แต่ว่าอาจารย์ทุกคนมีความตั้งใจที่จะสอนให้นิสิตทุกคนมีความรู้ ความสามารถ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยประสบการณ์สอน งานวิจัย และงานบริการวิชาการของแต่ละตน ซึ่งไม่เพียงจะให้ความรู้จากตำราเรียนเท่านั้น แต่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในชีวิตจริงให้กับนิสิตได้ด้วย

นอกจากนี้ การเรียนในหลักสูตรของภาควิชาวิศวกรรมโยธายังมีวิชาปฏิบัติการในห้องทดลอง และภาคสนามอีกหลายวิชา เช่น ปฏิบัติการทดสอบวัสดุ จำพวกเหล็กรูปพรรณ เหล็กเส้น ไม้ และวัสดุอื่น ๆ ในงานวิศวกรรมโยธา ปฏิบัติการปฐพีกลศาสตร์ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ของดิน การซึมน้ำ การบดอัด งานสำรวจรังวัดเบื้องต้น การวัดทิศทางและระยะทาง การสำรวจรังวัดภูมิประเทศ การเขียนแผนที่ เป็นต้น ดังนั้นนิสิตจะได้ฝึกทดลองจริงเพื่อให้เข้าใจหลักการในทางปฏิบัติ นอกเหนือจากองค์ความรู้ในตำรา

พี่ ๆ อยากบอกอะไรน้อง ๆ

จากใจพี่ที่เรียนภาคโยธา ต้องบอกเลยว่าเป็นภาคที่ดีมากๆ พี่รู้สึกโชคดีมาก ๆ ที่ได้เข้ามาภาคนี้ เพื่อน ๆ ทุกคนพร้อมที่จะช่วยกันเรียน อาจารย์ก็น่ารัก ซึ่งจริง ๆ แล้วโยธาไม่ได้เรียนไปสร้างตึกอย่างเดียวนะ โยธายังมีอีกหลายด้านมาก ๆ ฉะนั้น! ใครที่อยากรู้ว่ามีด้านไหนอีกบ้าง โยธาทำอะไรได้อีกบ้าง ต้องมาเรียนแล้วแหละ