logo

ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering)

ภาควิชาเป็นแบบไหน เนื้อหาภายในภาควิชา เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการเป็นภาควิชาที่สอนให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีพื้นฐานมาจากโรงงานอุตสาหกรรมตามชื่อสาขาวิชา ทรัพยากรในโรงงานจะประกอบ คนงาน (Man) เครื่องจักร (Machine) วัตถุดิบ (Material) และวิธีการทำงาน (Method) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า 4M+1E (Environment) ดังนั้นเราจะวางแผนและบริหาร 4M คือ การวางแผนการใช้งานคนงาน เครื่องจักร วัตถุดิบ และวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งการบริหาร 4M ในโรงงานสามารถนำไปประยุกต์ในระบบงานอื่น ๆ เช่น งานบริการด้านโรงแรม โรงพยาบาล การเงินการธนาคาร ส่วนงานโลจิสติกส์ ห่วงโซ่อุปทาน ขนส่ง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันได้

แนวทางหลังเรียนจบ เรียนจบแล้วทำงาน/เรียนต่อสายไหน

จบจากภาคอุตสาหการแล้วสามารถทำงานได้หลายสาขา เนื่องจากการเรียนเน้นการบริหารงานและวางแผนระบบให้มีประสิทธิภาพ ทำให้นิสิตสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ได้กับทุกหน่วยงาน ทุกบริษัท ทุกโรงงาน เริ่มจากการทำงานในฐานะวิศวกรโรงงานที่ดูแลด้านการวางแผนการผลิต วิศวกรควบคุมคุณภาพ วิศวกรระบบ วิศวกรความปลอดภัย วิศวกรดูแลโลจิสติกส์และการขนส่ง หรือวิศวกรดูแลบริหารคลังสินค้า ถ้าต้องการทำงานบริษัทก็สามารถทำได้หลายตำแหน่ง ในฐานะวิศวกรที่ปรึกษาด้านการวางแผน การปรับปรุงกระบวนการ การเงิน การธนาคาร คณิตศาสตร์ประกันภัย หรือแม้แต่การเริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการเอง

ถ้าอยากเรียนต่อสามารถเรียนต่อได้ในหลายสาขา โดยเฉพาะสาชาวิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมการเงิน คณิตศาสตร์ประกันภัย บริหารธุรกิจ หรือด้านการวิเคราะห์ข้อมูล

บรรยากาศการเรียนภายในภาควิชา

บรรยากาศการเรียนในภาคอุตสาหการจะเป็นการเรียนแบบเป็นกันเอง เพื่อน ๆ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยมีอาจารย์ที่ใส่ใจในการเรียนการสอนเป็นอย่างดี และภาคอุตสาหการมีโปรแกรมที่เรียกว่า Co-operative Program ที่ร่วมมือกับอุตสาหกรรมเพื่อให้นิสิตมีโอกาสใช้ความรู้ที่เรียนในการฝึกงาน รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงในสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่ภาคฤดูร้อนของปี 3 จนจบเทอม 1 ของปี 4

ภาควิชานี้เหมาะกับบุคคลแบบไหน

จากรูปแบบการเรียนของภาคอุตสาหการ ที่ต้องทำงานในเชิงการบริหารระบบ บุคคลที่จะเข้ามาเรียนในภาควิชาอุตสาหการควรมีความสามารถในการทำความเข้าใจในระบบต่าง ๆ ได้ดี เพื่อที่จะประสานงานกับผู้ร่วมงานคนอื่นหรือลูกค้าได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ หรือเป็นคนที่สามารถทำงานกับระบบได้ด้วยตัวเอง เช่น งานการวิเคราะห์ข้อมูล