ภาควิชาวิศวกรรมนาโน (NANO)
ภาควิชาวิศวกรรมนาโน (NANO)
ภาคของเราเรียนเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ซึ่งหมายความว่าเราสามารถนำ ‘ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี’ ไปต่อยอดกับสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย หลักสูตรของเราให้ความรู้ในภาพกว้าง เพื่อให้นิสิตมีเนื้อหาความรู้ที่ครอบคลุมและสามารถเลือกไปต่อยอดในสายงานที่สนใจเป็นพิเศษ
เนื้อหาภายในภาควิชา
ปี 1 เป็นการเรียนเนื้อหาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ทั่วไป มีวิชา Intro to Nano เพื่อปูพื้นฐาน ให้เราได้ทำความรู้จักกับนาโนเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต รู้ว่านาโนคืออะไร นำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
ปี 2 มีวิชาเฉพาะมากยิ่งขึ้น เช่น เคมีอินทรีย์ พื้นฐานวัสดุ วงจรไฟฟ้า
ปี 3 และ ปี 4 เรียนแยกตามภาคย่อย 2 ภาค ได้แก่
- Advanced material หรือวิศวกรรมวัสดุศาสตร์ชั้นสูง – เมื่อวัสดุมีขนาดอนุภาคเล็กมาก ๆ คุณสมบัติจะแตกต่างจากวัสดุชนิดเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับเทคโนโลยีต่าง ๆได้ ศึกษาโครงสร้างต่างๆของวัสดุในขนาดระดับนาโนว่าสามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ อะไรบ้างที่เราสามารถนำไปใช้ได้
- Bioengineering หรือวิศวกรรมชีวเวช - การเรียนการสอนในภาคย่อยนี้จะเน้นไปทาง application ที่หลากหลาย ช่วยให้นิสิตเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าหลักการทางวิศวกรรมสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับนาโนเทคโนโลยีทางชีวภาพได้อย่างไรบ้าง โดยจะได้เรียนเนื้อหาเช่น ระบบ metabolism ของร่ายกายมนุษย์โดยละเอียด และ bioreactor โดยใช้เซลล์และจุลินทรีย์ต่าง ๆ เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารที่เราต้องการ เป็นต้น เพื่อที่นิสิตจะสามารถเลือก tools ที่สนใจเพื่อนำไปประยุกต์ต่อได้ เช่น ในสายงานของ biomedical engineering
โดยทั้งสองภาคย่อยเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน สามารถผสมผสานองค์ความรู้เพื่อนำไปต่อยอดได้ เช่น เราสามารถนำความรู้ด้านวัสดุไปใช้ในการแพทย์ได้เป็นต้น
แนวโน้มและการทำงานในอนาคต
ในความเป็นจริงแล้ว นาโนเทคโนโลยีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา ถูกใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เครื่องสำอาง ครีมกันแดด อุปกรณ์การกีฬา แบตเตอร์รี่ ชิป สเปรย์กันน้ำ เสื้อผ้า ผงซักฟอก หรือแม้กระทั่งในด้านการแพทย์ เช่น drug delivery system และ วัคซีน เป็นต้น ดังนั้นการทำงานในสายนาโนจึงมี potential ที่จะเติบโตได้มาก ซึ่งสายงานก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของนิสิตแต่ละคนเลย
หลังจากเรียนจบเราจะมีพื้นฐานที่กว้าง ถ้าเรามีด้านที่สนใจเป็นพิเศษหรือสนใจที่จะประยุกต์ความรู้ในสาขาวิศวกรรมอื่น ๆ เข้ากับนาโน เราก็สามารถเรียนต่อในด้านนั้น ๆ ได้ หรือเราสามารถไปทำงานกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศได้ เพราะมีหลายเทคโนโลยีที่เราสามารถนำความรู้ทางด้านนาโนไปพัฒนาได้ เช่น ในด้านอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด, solar cell หรือ sensor รถยนต์
สำหรับคนที่สนใจด้าน biomed นิสิตที่จบแล้วส่วนใหญ่จะไปเรียนต่อ เพื่อเจาะลึกลงไปให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้นในแต่ละ tools ที่ตัวเองสนใจ เพื่อนำไปพัฒนายา, เครื่องมือแพทย์ หรือ วัคซีน MRNA เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อเรียนจบนาโนแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนต่อก่อนแล้วถึงจะทำงานได้ ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าอยากทำงานในด้านไหน และต้องใช้องค์ความรู้ในด้านไหนบ้าง
บรรยากาศในการเรียน
ในภาคมีประมาณ 50 กว่าคน เราอยู่ด้วยกันแบบครอบครัวใหญ่ เพื่อน ๆ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีมาก มีกิจกรรมในภาคเรื่อย ๆ เช่น Nano trip, กิจกรรม Nano first meet เป็นต้น