logo

ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ (Nuclear Engineering)

ภาคนี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

  • หลักการพื้นฐานของการตรวจและวัดรังสีนิวเคลียร์
  • ฟิสิกส์สุขภาพและการป้องกันรังสี
  • เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์
  • การวิเคราะห์เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
  • ความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
  • ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์
  • แง่มุมด้านสิ่งแวดล้อมของวิศวกรรมนิวเคลียร เป็นต้น

เนื้อหาการเรียนในแต่ละชั้นปี

ปี 1: จะเรียนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เหมือนกันกับนิสิตภาควิชาอื่น ๆ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์

ปี 2: จะเรียนเกี่ยวกับพื้นฐานของไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกล และวิชาที่ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์จะเรียนเกี่ยวกับวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมนิวเคลียร์ เช่น หลักการตรวจวัดรังสีประเภทต่าง ๆ หลักการป้องกันอันตรายจากรังสีเพื่อให้มีการใช้งานอย่างปลอดภัย และหลักการของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และระบบความปลอดภัยในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ปี 3: จะเน้นเรื่อง เครื่องมือวัดทางนิวเคลียร์ การพัฒนาและการซ่อมบำรุง เครื่องกำเนิดรังสีที่ใช้งานทางการแพทย์ ทางงานอุตสาหกรรม และงานด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเรียนเกี่ยวกับหลักการประยุกต์การใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์และงานนิวเคลียร์อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมในงานอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากหลักสูตรของเรามีสาขาวิชาย่อยให้เลือกเรียนหลายสาขา เช่น สาขาเครื่องมือวัดทางนิวเคลียร์ สาขานิวเคลียร์กำลัง สาขาการใช้งานทางอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม และสาขาวัสดุทางนิวเคลียร์และการกำจัดของเสียทางนิวเคลียร์ เพื่อความสนใจเฉพาะทางสำหรับเป็นพื้นฐานเฉพาะด้านในการทำโครงงานด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ และสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น นิสิตสามารถเลือกเรียนวิชาเลือกเฉพาะสาขาได้ในปี 3 เทอมที่ 2

ส่วนในปีที่ 4 จะเรียนวิชาเลือกเฉพาะของสาขาเพิ่มเติม และทำโครงงานด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์

จบไปแล้วสามารถทำงานด้านไหนได้บ้าง

สามารถทำงานด้านอุตสาหกรรม ทางด้านการแพทย์ และทางด้านการศึกษา โดยมีแนวทางในการประกอบอาชีพดังนี้

  • เป็นนักวิจัยด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี
  • วิศวกรควบคุมระบบงานที่ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีในงานอุตสาหกรรม ออกแบบระบบวัดและควบคุมด้วยเทคนิคนิวเคลียร
  • ควบคุมดูแลเครื่องมือวิจัยวิทยาศาสตร์ที่ใช้เทคนิคนิวเคลียร์และรังสี
  • ติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องกำเนิดรังสีรวมทั้งเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับงานวิจัย งานแพทย์และงานอุตสาหกรรม
  • ร่วมออกแบบและ/หรือทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งในและต่างประเทศ
  • ร่วมออกแบบและ/หรือทำงานในบริษัทผลิตเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย หรือหน่วยงานที่มีการเดินเครื่องเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ
  • ทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ในต่างประเทศที่ต้องการผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสี
  • เป็นอาจารย์สอนในสถาบันการศึกษา

ถ้าไม่ตรงสาย แล้วภาควิชานี้มีความใกล้เคียงกับสายงานไหนบ้าง

เนื่องจากหลักสูตรของภาควิชาเราจะรวมศาสตร์ของ 3 สาขาเข้ามาไว้ด้วยกันก็คือ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกล และนิวเคลียร์ เราสามารถที่จะใช้ความรู้จากทั้ง 3 ศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ได้

อนาคตสายงานนี้ อาจารย์คิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง

เนื่องจากเทคโนโลยีทางด้านนิวเคลียร์ที่มีการพัฒนาไปได้เยอะ ปัจจุบันมีแนวโน้มที่นำเครื่องเร่งอนุภาคหรือเครื่องกำเนิดรังสีเข้ามากจากต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และด้านอุตสากรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นความต้องการบุคคลากรด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ยังคงสูง เราสามารถเข้าไปทำงานทั้งในส่วนของ operator และ service engineer หรืองานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ หรืองานควบคุมดูแลระบบวัดและควบคุมด้วยนิวเคลียร์เกจในการงานควบคุมการผลิตในอุตสหกรรม เป็นต้น

ตลาดงานทั้งในและต่างประเทศ เป็นอย่างไรบ้าง

  • โอกาสตลาดงานในประเทศ เช่น องค์กรของรัฐ เช่น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข กรมตำรวจและกรมศุลกากร, รัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เป็นต้น
  • โอกาสตลาดงานต่างประเทศ เช่น International Atomic Energy Agency (IAEA), บริษัทเอกชนเกี่ยวกับเครื่องมือการแพทย์ ด้านรังสีในต่างประเทศ, อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในต่างประเทศ

สิ่งที่อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจจะเข้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์

ถ้าน้อง ๆ สนใจเกี่ยวกับนิวเคลียร์ รังสี เครื่องมือวัดทางนิวเคลียร์ เครื่องเร่งอนุภาค และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ก็ขอเชิญชวนเข้ามาเรียนที่ภาควิชาฯ ขอให้สนใจและชอบในสิ่งที่จะเรียน ก็จะทำให้เราสามารถที่จะเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น